วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เปิดมุมมอง "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" "การเมืองบนท้องถนน" จากการศึกษาของนักศึกษาปริญญาเอกชาวอิตาลี


วันที่  16 สิงหาคม เวลา 13.00 น. ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดสัมมนาบัณฑิตศึกษาหัวข้อ "เจ้าของแผนที่: มานุษยวิทยาของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ" โดย เคลาดิโอ โซปรานเซ็ตติ นักศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา

เคลาดิโอ จบปริญญาตรีสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งโรม และจบปริญญาโทสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด โดยตอนนี้กำลังศึกษาระดับปริญญาเอกในสาขาเดียวกันด้วย อาจารย์ที่ปรึกษาของเคลาดิโอคือ ศ.ดร.ไมเคิล เฮิร์ซเฟลด์ ซึ่งเคยลงศึกษาภาคสนามในประเทศไทยแล้วหลายครั้ง ส่วนงานวิจัยของเคลาดิโอจะเน้นไปในด้านมานุษยวิทยาเมือง, ความสามารถในการเคลื่อนไหว (ทางสังคม) และระบบเศรษฐกิจนอกระบบ

เคลาดิโอ เริ่มการสัมนาด้วยการตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมจึงสนใจศึกษา "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" คำตอบของเขาคือ โดยปกติบริบทการศึกษาทางมานุษยวิทยาการเมืองจะสนใจศึกษาด้านที่อยู่อาศัย แหล่งชุมชน และหมู่บ้านในเมือง แต่เราได้รับรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิตในเมืองจากหมู่บ้านที่ตั้งอยู่นอกพื้นที่เครือข่ายที่อยู่อาศัยที่มีความคล้ายคลึงกันได้จากการคมนาคม อย่างเช่น เรามีบ้านอยู่สวนพลูซอย 6 แต่ไม่เคยไปพื้นที่อื่น ก็จะมีประสบการณ์ได้ก็ต่อเมื่อมีการคมนาคม จึงต้องการศึกษาคนที่ทำให้เราได้รับประสบการณ์จากนอกพื้นที่

อีกทั้งนักมานุษยวิทยาที่ทำวิจัยเรื่องการคมนาคมก็ยังมีจำนวนไม่มาก เพราะฉะนั้นจึงต้องพยายามศึกษาคนที่ทำให้เกิดระบบการคมนาคมนี้เกิดขึ้นมา ซึ่งก็คือ "มอเตอร์ไซค์รับจ้าง" นั่นเอง

มอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯมีประมาณ 2 แสนคน แต่ละคนขับกันประมาณ 20-30 เที่ยวต่อวัน เมื่อรวมแล้วมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งหมดวิ่งรับส่งเป็นจำนวน 4-6 ล้านเที่ยวต่อวัน มากกว่าจำนวนเที่ยวของรถไฟฟ้าและรถไฟฟ้าใต้ดินรวมกันแล้วถึง 4 เท่าทีเดียว

กล่าวได้ว่า เป็นระบบคมนาคมที่มหึมามาก มีให้เห็นอยู่แทบทุกพื้นที่ และที่สำคัญคือคนกรุงเทพฯใช้บริการบ่อยมากๆแต่กลับไม่ค่อยมีใครลงไปศึกษาเรื่องนี้

ความเป็นมาและพัฒนาการของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯ

แต่เดิมกรุงเทพฯเป็นเมืองของการคมนาคมทางน้ำที่มีตัวแบบจากอยุธยา ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเปลี่ยนแปลงการคมนาคมเป็นใช้เส้นทางทางบกแทนตามแนวคิดของตะวันตก ทำให้กรุงเทพฯขยายออกและมีการพัฒนาถนนขึ้น แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือการร่วมมือกันพัฒนาระหว่างไทยและสหรัฐระหว่างช่วงหลังสงครามเวียดนาม การร่วมมือกันพัฒนาครั้งนี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ การพัฒนาผังเมือง

ประมาณพ.ศ.2503 สหรัฐให้ที่ปรึกษามาร่างแผนแม่บทแรก โดยมีแนวคิดคือ พยายามพัฒนาให้เป็นเมืองที่เดินทางโดยใช้รถยนต์เป็นพื้นฐาน และต้องการสร้างถนนใหญ่จากนอกกรุงเทพฯเข้ามาในเมือง ซึ่งแนวคิดนี้ส่งผลให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้นเร็วมาก ในช่วงเวลา 30 ปีระหว่างการพัฒนานี้อัตราการเพิ่มขึ้นของรถยนต์พุ่งสูงอย่างรวดเร็วพร้อมกับอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรก็พุ่งตามไปด้วย

ปัญหาก็คือรัฐบาลไทยยอมรับแผนแม่บทนี้เพียงแค่บางแนวคิดโดยสร้างแค่ถนนใหญ่ แต่ไม่เคยยอมรับแนวคิดการสร้างถนนเล็กอื่นๆ เห็นได้ว่าในกรุงเทพฯมีซอยยาวๆที่ไม่ติดกันเป็นจำนวนมาก และซอยแต่ละซอยก็มีทางออกเพียงทางเดียวทุกคนที่ออกจากบ้านต้องออกซอยเดียวกัน แตกต่างกับผังเมืองของปารีสที่แม้ว่าจะมีซอยเล็กๆแต่มีทางออกเยอะ

ช่วงที่กรุงเทพฯขยายตัวก็จะพบปัญหาการจราจรเป็นเงาตามตัวมา ด้วยระบบถนนที่เป็นแบบนี้ทำให้รัฐบาลไม่สามารถพัฒนาระบบการคมนาคมสาธารณะได้ รถเมล์และรถไฟฟ้าไม่สามารถเข้าไปในซอยได้ คนที่จะออกจากซอยก็ต้องมีรถยนต์ ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้ถูกแก้ไขโดยรัฐบาลแต่อย่างใด กลับกลายเป็นระบบเศรษฐกิจนอกระบบเป็นผู้เข้ามาแก้ปัญหาแทน ซึ่งก็คือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

จากที่ศึกษามาจริงๆแล้วระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างเกิดขึ้นที่ซอยงามดูพลี เขตสาทร ในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว โดยเป็นวินที่อยู่กันแบบร่วมมือกัน คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ก็เป็นพวกคนทำงานอาสาสมัคร ทำงานวันละครึ่งชั่วโมง หรือ หนึ่งชั่วโมงเท่านั้น

ช่วงเวลานั้นระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯกระจายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มเกิดวินมอเตอร์ไซค์ขึ้นอีกหลายที่ และพัฒนาระบบการจัดการอย่างต่อเนื่อง

ลักษณะที่สำคัญของระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างคือ "เสื้อกั๊ก" ที่เป็นสัญลักษณ์แสดงตัวของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นจะรู้ว่าคนที่ทำผิดเป็นใคร "คิว" ทำให้ทุกคนในวินรู้ลำดับ

"การควบคุมเขตแดน" และ "ผู้มีอิทธิพล" ซึ่งเป็นส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกัน หากมีวินจำนวนมากและเข้ามาแข่งกันก็ต้องเป็นบทบาทของผู้มีอิทธิพลที่จะเข้ามาควบคุมบริเวณต่างๆ

แต่ระบบของมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องมาพบกับ 2 จุดเปลี่ยนที่สำคัญ หนึ่งคือ วิกฤติต้มยำกุ้งในปีพ.ศ.2540 หลายคนที่ทำงานอยู่กรุงเทพฯก็ไม่มีงานทำ ต้องไปทำงานนอกระบบ จำนวนมอเตอร์ไซค์รับจ้างพุ่งสูงขึ้นมาก  

จุดเปลี่ยนที่สองคือ นโยบายของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ออกมาในปี พ.ศ.2546 โดยช่วงนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธออกนโยบายที่เรียกว่า "ปราบปรามกลุ่มอิทธิพลมืด" 5 กลุ่มโดยหนึ่งในนั้นคือกลุ่มที่ควบคุมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

รูปแบบของนโยบายนี้ก็คือให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างไปลงทะเบียนที่เขตเพื่อรับเสื้อกั๊ก และส่งเสริมให้มีการจัดการภายในโดยมีหัวหน้ามอเตอร์ไซค์ดูแลในแต่ละวิน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับการควบคุมผู้มีอิทธิพล(ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และตำรวจ)

คนที่เป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเห็นว่านโยบายนี้มีประโยชน์ต่อพวกเขาทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ได้ทำงานอย่างเป็นอิสระมากขึ้น แต่หลังจากที่รัฐบาลของคุณทักษิณถูกรัฐประหาร ผู้มีอิทธิพลก็กลับมา ปัญหาที่เห็นก็คือเสื้อวินที่แจกมีจำนวนจำกัด คนที่ได้รับเสื้อวินไปก็เอาไปขายให้กับผู้มีอิทธิพล หากเป็นพื้นที่ทำเลดีๆแล้วสนนราคาเสื้อกั๊กอาจขึ้นไปถึงตัวละ 2 แสนบาท

จริงๆแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่เสื้อกั๊ก แต่เราเห็นแล้วว่าอยู่ที่การควบคุมบริเวณต่างหาก ถ้าไม่มีระบบที่สามารถควบคุมได้ ผู้มีอิทธิพลจะกลับมา ปัญหาที่ตามมาคือรัฐบาลยุคต่อๆมาไม่สามารถควบคุมผู้มีอิทธิพลได้ ผู้มีอิทธิพลก็กลับมาอีกครั้ง คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายคนก็อยากสร้างระบบการจัดการที่จะช่วยให้มีอำนาจในสังคมได้ โดยประมาณ 8 เดือนที่แล้วเหล่าผู้ขับขี่ได้จัดตั้งสมาคมมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีลักษณะคล้ายกับสหภาพแรงงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องผู้มีอิทธิพล และให้คำปรึกษาในหลายๆด้าน นอกจากนี้ยังให้บริการด้านต่างๆให้กับสังคมด้วย

สังคมวิทยาของคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (ภูมิทัศน์มนุษย์)

จากข้อมูลแล้วมอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด เป็นผู้ชาย มีอายุระหว่าง 20- 40 ปี เข้ามากรุงเทพฯเพื่อหวังว่าจะส่งเสียครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด หลายๆคนไม่ได้เข้ามาทำอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นอาชีพแรก ซึ่งสาเหตุที่หลายคนเข้ามาทำอาชีพนี้ก็เพราะว่าเป็นอาชีพที่มีความอิสระ แต่คำถามคือ ความหมายของคำว่า "อิสระ" ของมอเตอร์ไซค์รับจ้างคืออะไร

แนวคิดเรื่องความอิสระของมอเตอร์ไซค์รับจ้างแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ อิสระจากคำสั่งต่างๆ เพราะไม่มีนายจ้าง และ อิสระที่สามารถเดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯและต่างจังหวัดได้ ถ้าเราวิเคราะห์เรื่องความเป็นอิสระจะช่วยให้เราเข้าใจตำแหน่งทางสังคมของกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์มอเตอร์ไซค์รับจ้างหลายคนพบว่า ประสบการณ์ที่หลายคนมักพูดถึงบ่อยๆคือ คนกรุงเทพฯดูถูกคนที่มาจากต่างจังหวัด หลายคนคิดว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ไม่มีการศึกษา สกปรก อันตรายและคนขี้เกียจ คนที่ทำงานกับครอบครัวจะรู้สึกเป็นกันเองมากกว่า เวลาที่มาทำงานในกรุงเทพฯต้องเรียนรู้วิธีการทำงานในความสัมพันธ์แบบใหม่คือ"เจ้านาย" และ "ลูกน้อง" หลายๆคนรู้สึกเจ้านายไม่ให้เขาลองทำ ไม่มีโอกาส ไม่มีอิสระและไม่สามารถเป็นเจ้าของตัวเองได้จึงเปลี่ยนมาเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพราะได้เป็นเจ้านายตัวเอง นอกจากนี้ยังรู้สึกมีบทบาท มีตัวตนในเมืองและได้พัฒนาความรู้ในเมืองเกี่ยวกับสังคมไทย เพราะกิจกรรมยามว่างในวินคือการอ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความมีอยู่ทางการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย มีการศึกษาเรื่องการเมืองที่ดี

บทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเมืองนั้นไม่ได้มีแค่ในบริบทการขนส่งเท่านั้น แต่ยังเป็นคนที่รับส่งสินค้า เอกสาร อาหาร หรืออะไรก็ตามที่คนในพื้นที่ต้องการ นอกจากนี้มอเตอร์ไซค์รับจ้างยังเป็นคนที่ไปจ่ายบิลทางการเงินต่างๆ มีผู้ใหญ่ที่ให้เงินหลายหมื่นบาทฝากไว้กับมือมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้เอาไปฝากเงิน เห็นได้ว่าคนในพื้นที่ต้องมีความเชื่อใจไม่ใช่แค่ในเรื่องการขนส่งเท่านั้น มอเตอร์ไซค์รับจ้างบางคนยังเป็นผู้ช่วยให้กับผู้ใหญ่ในพื้นที่(ทั้งเรื่องถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย)

มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนหนึ่งยังมีความสัมพันธ์กับตำรวจ เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆอย่างไฟไหม้หรืออุบัติเหตุคนที่โทรศัพท์เรียกตำรวจจะเป็นกลุ่มคนเหล่านี้ มีคำกล่าวว่า ตำรวจเป็นเหมือนน้ำที่ล้างทุกอย่างเพราะมักจะมาเมื่อทุกอย่างจบเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตก็มักจะเรียกมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาช่วยก่อนเพราะจริงๆแล้วตำรวจมาช้า แต่มอเตอร์ไซค์รับจ้างอยู่ในพื้นที่เดินทางได้อย่างรวดเร็ว

ตำแหน่งทางสังคมของมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีจุดเด่นตรงที่มีอิสระในตัวเองเลือกรับงานได้ เป็นคนที่มีบทบาทในพื้นที่แต่ไม่ใช่บทบาทในชั้นล่าง มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะอยู่ในฐานะตัวเชื่อมในหลายๆเรื่อง และมีส่วนกับการพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับทุกคนที่อยู่ในบริเวณกับคนที่อยู่บริเวณอื่น ดังนั้น มอเตอร์ไซค์รับจ้างมีตำแหน่งที่พิเศษมากในสังคมท้องถิ่นที่ทำให้คนจากชนบทมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับชนชั้นกลางและชนชั้นสูง กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างบางทีก็เข้าออกในละแวกที่อยู่อาศัย หรือในที่ทำงานของคนในพื้นที่ แม้ว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่มีอำนาจจากสาธารณะแต่เขาสามารถใช้ความสัมพันธ์กับคนในสังคมสร้างอำนาจได้

กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างในกรุงเทพฯที่มาจากต่างจังหวัดจะมีโอกาสกลับบ้านได้มากกว่ากลุ่มอาชีพอื่นที่มาจากต่างจังหวัดเหมือนกัน หลายคนมีครอบครัวพักอยู่ที่ต่างจังหวัด บ่อยครั้งที่กลับบ้านพวกเขาไม่ได้แค่เดินทางไปมาระหว่างกรุงเทพฯและบ้านเกิดเท่านั้น แต่ยังนำเอาสินค้า แนวคิด เทคโนโลยี หรือวิถีชีวิตจากกรุงเทพฯกลับไปด้วย เช่น เพื่อนที่เดินทางกลับอุดรธานีหอบเอาไก่เคเอฟซี และพิซซ่ากลับไปฝากที่บ้าน

ดังนั้น มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ใช่แค่เป็นตัวเชื่อมในการขนส่งเท่านั้น แต่เป็นตัวเชื่อมในทางชนชั้นหรือวิถีชีวิตต่างๆด้วย ในชีวิตของเขายังมีโอกาสสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ และเครือข่ายใหม่ๆขึ้นในสังคม เป็นเหมือนคนที่สอดแทรก สร้างพื้นที่ของตัวเองที่ไม่เคยมีเกิดขึ้นในสังคมมาก่อน เหมือนอย่างเวลาที่รถติดคนอื่นไม่สามารถไปไหนได้แต่พวกเขาสามารถเดินทางได้ ทั้งนี้ ประสบการณ์ที่มีความหลากหลายของมอเตอร์ไซค์รับจ้างทำให้เขาอยู่ในตำแหน่งที่เห็นความไม่เท่าเทียมกันได้ชัดๆจึงทำให้พวกเขาเป็นกลุ่มที่มีบทบาทในทางการเมืองด้วย

บทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในการเมืองบนท้องถนน

หลายคนอาจมองว่าการมีส่วนร่วมของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองว่าเป็น ม็อบรับจ้าง เป็นเพียงคนที่รับเงินมาโดยที่ไม่เข้าใจทางการเมือง ไม่มีอุดมการณ์ของตัวเองเลย แต่จริงๆแล้วถ้าลองวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองของบทบาททางการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการพัฒนาการมีส่วนร่วมของมอเตอร์ไซค์รับจ้างและมีการพัฒนาเรื่องการศึกษาทางการเมืองด้วย ซึ่งหากเราต้องการเข้าใจบทบาททางการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างแล้วต้องมองวิธีการที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้มีบทบาทในทางการเมืองได้คือ มิติเชิงเครือข่าย และ เชิงอุดมคติหรือนโยบายของรัฐบาล

จริงๆแล้วคนที่ทำอาชีพด้านการขนส่งมีบทบาทที่ใหญ่มากในทางการเมืองระดับชาติ เช่นการประท้วงหยุดงานครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2466 ก็เกิดโดยผู้ขับรถราง แต่สำหรับบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างครั้งแรกเลยก็คือเหตุการณ์ประท้วงเมื่อปีพ.ศ. 2535 ที่ราชดำเนินโดยมีที่มาจากการเมืองเชิงโครงสร้างและความสัมพันธ์กับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (บุคคลสำคัญที่มีส่วนกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงปีพ.ศ. 2523-2542) โดยพลเอกชวลิตเป็นคนที่สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชนชั้นล่าง อาจเป็นเพราะว่าช่วงนั้นกอ.รมน.ต้องการให้คนชั้นล่างสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล พลเอกชวลิตเองก็เป็นคนที่มีประสบการณ์และมีฝีมือในเรื่องการเคลื่อนไหวซึ่งตัวเขาเองก็เป็นคนที่เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางเครือข่ายแบบเดิมเป็นเครือข่ายที่มีความสัมพันธ์กับการเมืองภาคเลือกตั้ง และอาจเป็นคนแรกที่ตระหนักถึงบทบาททางการเมืองที่เป็นไปได้ของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ม็อบรับจ้าง

ในช่วง พ.ศ. 2535 มอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้าไปมีบทบาทโดยที่ไม่รู้เรื่องทางการเมืองและกล่าวได้ว่าเป็นคนที่ถูกจ้างไปเพื่อสร้างความปั่นป่วน แต่หลังจากเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อพ.ศ. 2535 บทบาททางการเมืองของมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เห็นได้ไม่ชัดและเริ่มหายไป ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของพวกเขาที่ศึกษาและพัฒนาความรู้ในเรื่องการเมือง รวมถึงจำนวนของมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆไปกับการสั่งสมความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการเมืองระดับชาติ

ช่วงที่เห็นบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกครั้งก็คือช่วงรัฐบาลทักษิณ ช่วงเวลานั้นนโยบายของทักษิณให้ความช่วยเหลือมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มอเตอร์ไซค์รับจ้างจึงเห็นว่าเรื่องการเมืองก็มีประโยชน์กับตัวเอง เห็นประโยชน์ได้เสียในเชิงโครงสร้างและนโยบายผ่านการเสริมสร้างองค์กรภายใน

แต่หลังช่วงรัฐประหารไปแล้วมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับเห็นว่าชีวิตของเขาแย่ลง รัฐบาลใหม่ไม่เคยสนใจเกี่ยวกับชีวิตหรืออาชีพของเขา ผู้มีอิทธิพลก็เริ่มกลับเข้ามาในระบบ นโยบายที่ทักษิณเคยออกรัฐบาลชุดหลังจากนั้นก็ไม่เคยสนับสนุน พวกเขารู้สึกว่าเป็นช่วงที่การเมืองในไทยถอยหลัง กล่าวได้ว่ารัฐประหารเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างส่วนหนึ่งไปสนับสนุนเสื้อแดง การสนับสนุนของเสื้อแดงส่วนหนึ่งอาจมาจากคุณทักษิณแต่อีกส่วนหนึ่งก็มาจากความคิดหรืออุดมการณ์ของมอเตอร์ไซค์ที่พัฒนาขึ้นในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

แนวคิดของเสื้อแดงที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างคิดว่ามีความสำคัญสำหรับพวกเขามี 2 แนวคิดคือ แนวคิดเรื่องสองมาตรฐาน ซึ่งจริงๆแล้วพวกเขาอาจมีประสบการณ์ที่ดีมากในเรื่องนี้ โดยพวกเขาเป็นคนที่มาจากบ้านนอก อยากมีการศึกษาแต่ไม่มีโอกาส เห็นความแตกต่างระหว่างชีวิตของชนชั้นสูงในกรุงเทพฯกับชีวิตของตัวเอง และที่สำคัญคือพวกเขารู้สึกว่าทำงานวันละ 14 ชั่วโมงแต่กลับโดนดูถูก ขณะที่ในอีกด้านหนึ่งคนที่ไม่ทำงานเลยแต่กลับมีโอกาสทุกอย่าง

แนวคิดที่ 2 คือ แนวคิดเรื่องความยุติธรรม คนที่อยู่ในที่ชุมนุมอธิบายคำว่า ประชาธิปไตย คือ ความยุติธรรมในด้านต่างๆ อย่างเศรษฐกิจ และสังคม อุดมการณ์ของเขาเป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุติธรรมทางสังคม มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นกลุ่มคนที่เห็นปัญหาเหล่านี้ได้อย่างชัดเจน

บทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่เข้ามาร่วมชุมนุม

จากการศึกษาสามารถแบ่งกลุ่มบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างได้เป็น 4 กลุ่มคือ 

กลุ่มที่ไปรับส่งลูกค้าเท่านั้น ทำหน้าที่เหมือนมอเตอร์ไซค์รับจ้างตามปกติ

กลุ่มสนับสนุนคนเสื้อแดง โดยที่ไม่ได้ใส่เสื้อกั๊ก คือมาชุมนุมโดยเฉพาะ

กลุ่มที่ทั้งรับส่งด้วยและสนับสนุนด้วย อย่างเช่นตอนเช้าใส่เสื้อกั๊กไปทำงาน ตอนเย็นก็มาอยู่ในพื้นที่ชุมนุมด้วย

กลุ่มที่มาพบปะเพื่อนจังหวัดเดียวกันที่มาชุมนุม กล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด หลายคนบอกว่าไม่เคยไปประท้วงในช่วงแรกๆ แต่เมื่อมีการประท้วงที่ราชประสงค์กลับไปในพื้นที่เพื่อพบกับเพื่อนที่มาจากจังหวัดเดียวกัน

บทบาทที่หลากหลายของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในพื้นที่ชุมนุม

นอกเหนือจากบทบาทการขนส่งทั้งคนทั้งสินค้าแล้ว พวกเขายังมีบทบาทอื่นอีกอย่างเช่น ให้คำแนะนำกับคนต่างถิ่นที่เพิ่งเข้ามาในพื้นที่, เป็นผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองที่กระจายความคิดในบริเวณเมืองกับชนบทอย่างการติดป้ายข้อความไว้ที่รถ หรือ เขียนข้อความที่แสดงความคิดของตัวเองลงบนเสื้อกั๊ก, เป็นแหล่งข้อมูลและสายสืบ (ให้กับเสื้อแดงและทหาร), ระวังและรักษาความปลอดภัย ที่สำคัญคือเป็นนักสู้ที่มีความยืดหยุ่น กล่าวคือ เคลื่อนไหวได้รวดเร็วและหลากหลายตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลชุดนี้ดูเหมือนว่าจะเริ่มเข้าใจบทบาทของมอเตอร์ไซค์รับจ้างในทางการเมืองมากขึ้น รัฐบาลพยายามตัดความสัมพันธ์ระหว่างเสื้อแดงกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างโดยใช้การดำเนินการ 2 วิธีคือ วิธีทางการเมืองเชิงเครือข่ายอย่างเช่น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสมาคมมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาลกับมอเตอร์ไซค์ โดยตอนนี้รัฐบาลก็ให้เงินสนับสนุนสมาคมเดือนละ 2 แสนบาททำให้สมาชิกไม่สามารถไปสนับสนุนเสื้อแดงในนามของสมาคม เห็นได้ว่ารัฐบาลเริ่มเรียนรู้ที่จะเจรจาและต่อรอง

วิธีที่สองก็คือ วิธีการทางนโยบายหรืออุดมการณ์ กอ.รมน.พยายามที่จะดึงมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาในนโยบาย "ตาสับปะรด" ซึ่งใช้ในภาคใต้มาก่อน แนวคิดก็คือ ให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นหูเป็นตาให้กับทหารในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นเข้ามาประกอบด้วยอย่างเช่น การออกนโยบายขจัดผู้มีอิทธิพลออกจากระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการประชุมกับทางมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

คำถามก็คือ การดำเนินการดังกล่าวจะเปลี่ยนใจมอเตอร์ไซค์รับจ้างให้มาสนับสนุนรัฐบาลได้หรือไม่  ซึ่งน่าจะเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาหาคำตอบพอสมควร แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลเริ่มเข้าใจบทบาทและเริ่มมีนโยบายเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์รับจ้างมากขึ้น เพราะเราเริ่มเห็นว่าในการปะทะแต่ละครั้ง มอเตอร์ไซค์รับจ้างจะส่งผลต่อเหตุการณ์มากพอสมควรและสามารถสร้างประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย

โดยรวมแล้ว มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ได้มีบทบาทในทางการคมนาคม ขนส่งเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทในเชิงชนชั้นทางสังคม, การเคลื่อนย้ายของพลเมือง และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ด้วยความยืดหยุ่นและเป็นอิสระของมอเตอร์ไซค์รับจ้างทำให้พวกเขาสร้างพื้นที่ใหม่ขึ้นในสังคมไทยและสอดแทรกเข้าไปในพื้นที่นั้นๆผ่านภูมิทัศน์ทางกายภาพ, สังคมและทางการเมือง พวกเขาไม่เพียงแต่สอดแทรกเข้าไปเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทต่อภูมิทัศน์นั้นที่พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยอย่างเช่น การมีส่วนร่วมทางการเมืองแบบที่เราได้เห็นกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น